New Multi-Normal

New Normal for next era

เดือนกว่านี้ คำที่ได้บินบ่อยมากคือ New Normal หรือ สิ่งที่ไม่ปรกติธรรมดาที่เคยทำอยู่ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไป เป็นผลมาจากวิกฤติโรคติดต่อที่หลายคนไม่นึกว่า ครั้งนึงในชีวิตที่จะได้เป็นจิ๊กซอว์ของเหตุการณ์ครั้งนี้

เราอ่านหลายๆบทความบนเว็บ หลายๆแหล่งที่มาระบุค่อนข้างตรงกัน เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเปลี่ยนไปทั่วโลกอย่างพร้อมเพรียง โดยไม่จำเป็นต้องนัดหมายหรือมีวาระการตกลง การถูก “บีบ” โดยสภาวะของการแพร่กระจายของโรคระบาด ทั้งเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นขึ้นมา อาบน้ำ กินข้าว ใส่เสื้อผ้า ไปจนถึงการเดินทาง ทำงาน คุยธุรกิจ โดยสารไปยังที่ต่างๆ การซื้อของ ดื่มกาแฟ การทำธุรกรรมกับธนาคาร ไปจนถึงกลับเข้าบ้าน แค่ด้านนี้ก็เห็นได้แล้วว่า ในส่วนที่ย่อยเฉพาะชีวิตประจำวันก็น่าจะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาเบื้องต้น ทั้งหมดแทบจะถูกรื้อใหม่หมดทีเดียว หลังภาวะโรคระบาด

ระยะห่างทางสังคม – Social Distancing

เป็นคำที่ใช้ยึดเป็นข้อปฏิบัติ เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของ Covid-19 คือ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เพื่อลดการแพร่ระบาด

สิ่งที่หลายคนค้นพบในช่วงต้องอยู่กับตัวเอง คือการลองทำสิ่งธรรมดาๆเอง อย่างการทำกับข้าว งานบ้านทั่วไป งานซ่อมแซมพื้นฐาน หรือขึ้นไประดับงานฝีมืออย่างตัดผมด้วยตัวเอง ล้วนแล้วแต่ถูกเริ่มต้นทดลองทำ หลายคนพบกิจกรรมที่ชอบและทำได้ดีอย่างเช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป หรือเป็นยูธูปเปอร์ (บางคนได้เป็น TikTok Influencer) มีหลายคนได้เริ่มอ่านหนังสือที่ดองไว้จนเต็มชั้น ซึ่งอาจค้นพบว่าบางเล่มยังไม่ได้แกะห่อพลาสติกด้วยซ้ำ แน่นอนว่า หลายคนค้นพบว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้ดีมากกว่าที่คิด หรือ ไม่เคยคิดจะลองทำมาก่อน

แต่เรื่องที่เราสนใจจริงๆ กลับเป็นเรื่องการที่บางคนมีศักยภาพในทักษะหลากหลาย เมื่อก่อนอาจจะมีภาพของการที่คนๆหนึ่งเลือกที่จะทำสิ่งที่ถนัดให้ดีที่สุดแล้วมุ่งไปยังสิ่งนั้นอย่างไม่ย่อท้อเพื่อปลายยอดของความสำเร็จ แต่ในยุคสมัยหลังช่วงเวลานี้ไป คนที่สามารถทำ”อะไรก็ตาม”ได้หลากหลายและยืดหยุ่น แต่ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาดี ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทั้งองค์กร หรือ หน่วยงาน ต้องการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนงานหรือธุรกิจนั้นๆ ในยุคที่อะไรๆก็ต้องรัดเข็มขัด

เพราะอะไร ทำไมถึงมองว่า คนที่ทำได้งานได้หลายทักษะ เป็นคลื่นกระแสใหม่ที่น่าจะเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงหลังจากนี้ ต้องมองดูว่าก่อนวิกฤตินี้ หลายๆบริษัทหรือองค์กรยังไม่ได้ตะหนักถึงจุดนี้ ยิ่งองค์กรยิ่งใหญ่ สิ่งที่จะมองเป็นศักยภาพหรือความสามารถของคนที่ทำงานอยู่นั้น ยิ่งเป็นไปได้น้อย การมองภาพรวมและการขับเคลื่อนธุรกิจในองค์รวมเป็นหมุดหมายที่สำคัญและใหญ่กว่าการมานั่งมองดูรายละเอียดเล็กๆที่แสนจะซับซ้อน

Emilie Wapnick พูดใน TED เมื่อเมษาของปี 2015 ไว้อย่างน่าฟังว่า ความสนใจของเราไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เรื่องเดียวก็ได้ สิ่งที่ปิดกั้นเราจากความใคร่รู้ อยากลอง หรือทำสิ่งๆต่างๆมากกว่าหนึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรม จากคำถามง่ายๆที่ถามเราเมื่อตอนเป็นเด็กว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร? มีคนที่อาจจะรู้อยู่กับใจแล้วว่าชั้นต้องการเป็นอะไร ทำอะไร แต่หลายคนที่ไม่ ก็ไม่ได้ผิดอะไร!

Multipotentialite เป็นคำที่เอมิลี่อธิบายถึงบุคคลซึ่งสนใจและมีความสามารถ ทักษะที่หลากหลาย และสามารถจะเอาสิ่งต่างๆเหล่านั้นมาสังเคราะห์และพัฒนาการทำงานในรูปแบบที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ สิ่งที่ท้าทาย และ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้

ถ้าลองกลับมามองในบ้านเรา องค์กรแทบจะทุกที่ อยากได้คนที่เป็น Multipotentialite ทั้งนั้น ด้วยการระบุรีไควร์เมนท์ที่ “เกินจริง” แต่ค่าตอบแทนกลับ “เหนือความคาดหมาย” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะผ่านมากี่ปีก็ยังเป็นเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนไป แถมมีแนวโน้มจะหนักหนากว่าแต่ก่อนเสียด้วยซ้ำ การจ่ายค่าตอบแทนให้น้อยที่สุด แต่ได้งานมากที่สุดเท่าที่จะได้ เป็นชัยชนะของฝ่าย HR และบริษัท ที่เป็นวัตรยึดถือกันมาอย่างมิเสื่อมคลายในการจ้างคนทำงาน

แต่ Multipotentialite ที่เป็นแบบ “มืออาชีพ” น่าจะเป็น New Normal สำหรับองค์กร และ บริษัทในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้ เนื่องจากใช้จำนวนคนน้อยกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน ลดความอุ้ยอ้ายในกระบวนการ แม้จะต้องจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามความสามารถ แต่ได้ “ความคุ้มค่า” ระยะยาวในการลดขั้นตอนงานและปัญหาที่จะเกิดจากการประสานงานหลายๆคน การจบงานด้วยคนที่น้อยกว่า และประสิทธิภาพในแง่ของการตัดสินใจ

Multipotentialite อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น “พนักงานประจำ” เพียงแต่เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนที่ได้รับมอบหมาย เมื่จบโปรเจ็คก็สามารถออกไปทำอย่างอื่นได้ หรือ อาจจะเป็นคนทำงานให้ 3 หรือ 4 หน่วยงานได้ในเวลาเดียวกันเลยก็ได้ เนื่องจากเวลาทำงานไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป การจัดสรรเวลาต่างหากที่เป็นปัจจัยหลัก งานที่ส่งตามกำหนด จะทำที่ไหนก็ได้ ข้อดีขององค์กรที่จะได้ทางอ้อมส่วนหนึ่ง คือ การเปลี่ยนคนทำงานแบบยืดหยุ่นนี้ จะทำให้เกิดความหลากหลายและมี input ที่สดใหม่ตลอดเวลา ถ้าเทียบกับคนทำงานที่เป็น permanent worker

สุดท้ายแนวคิดนี้ อาจจะยังไม่ได้เริ่มขึ้นเร็ววันนี้ แต่ส่วนตัวเห็นว่า ไม่นานเกินนี้เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบใกล้เคียงกันนี้ในหลายๆที่ และการเป็น Multipotentialite อาจจะทำให้คำถามที่จะถามเด็กๆในอนาคตเปลี่ยนไป

วันนี้หนูสนใจ และ อยากทำอะไรบ้าง?